เกี่ยวกับโครงการ

 
การดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ
การดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ
 
 
ความเป็นมาโรงเรียนวิถีพุทธ

               สืบเนื่องมาจากที่กระทรวงศึกษาธิการจัดการประชุมเรื่อง “หลักสูตรใหม่เด็กไทยพัฒนา” ณ สถาบัน
ราชภัฎสวนดุสิต เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ  ชินวัตร ให้เกียรติเป็นประธาน ที่ประชุมได้หารือถึงโรงเรียนที่จัดการศึกษาเพื่อสนองตอบความสามารถที่แตกต่างกันของบุคคล เพื่อนำพาเด็กและเยาวชนไทยก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไร้ขีดจำกัด
โรงเรียนวิถีพุทธเป็นหนึ่งในโรงเรียนรูปแบบใหม่ ที่จะช่วยผลักดันให้เด็กและเยาวชนไทยสามารถพัฒนาตามศักยภาพ เป็นคนดี คนเก่งของสังคม และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข กระทรวงศึกษาธิการนำความเห็นของที่ประชุมมาหารืออีกหลายครั้ง อีกทั้ง ดร.สิริกร มณีรินทร์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะได้ไปกราบขอคำแนะนำเรื่องการจัดโรงเรียนวิถีพุทธ จากพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ณ วัดญาณเวศกวัน เมื่อวันที่ ๑-๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ นอกจากนั้นยังมีข้าราชการระดับสูงได้ไปกราบขอคำแนะนำในเรื่องเดียวกันนี้จากพระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รวมทั้งนิมนต์ท่านมาให้ข้อคิดในการประชุมระดับความคิดครั้งแรก
               วันที่ ๒๖-๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ เป็นการประชุมหารือเรื่องโรงเรียนวิถีพุทธ เป็นครั้งแรกมีพระภิกษุคฤหัสถ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ มาประชุมประมาณ ๕๐ รูป/คน ได้ข้อสรุปเบื้องต้นถึงหลักสำคัญของการจัดโรงเรียนวิถีพุทธ
                วันที่ ๑-๔ เมษายน ๒๕๔๖ เป็นการประชุมหารือครั้งที่ ๒ มีพระภิกษุและคฤหัสถ์ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ มาร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินการต่อจากหลักการที่ได้สรุปไว้แล้ว                             
                จากการประชุมใหญ่ ๒ ครั้ง ทำให้ได้ข้อสรุปโรงเรียนวิถีพุทธในเรื่อง ภาพสรุปโรงเรียนวิถีพุทธ
กรอบความคิดรูปแบบโรงเรียนวิถีพุทธ แนวทางการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ และแนวทางการบริหารโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ

กรอบแนวคิดรูปแบบโรงเรียนวิถีพุทธ

 

คณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา (๒๕๔๖) ได้ให้ความหมายของโรงเรียนวิถีพุทธ คือ โรงเรียนระบบปกติทั่วไปที่นำหลักธรรมพระพุทธศาสนามาใช้ หรือประยุกต์ใช้ในการบริหารและการพัฒนาผู้เรียนโดยรวมของสถานศึกษา เน้นกรอบการพัฒนาตามหลักไตรสิกขา อย่างบูรณาการ
 


รูปแบบของโรงเรียนวิถีพุทธ 

                โรงเรียนวิถีพุทธดำเนินการพัฒนาผู้เรียนโดยใช้หลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างบูรณาการ ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการพัฒนา “การกิน อยู่ ดู ฟัง เป็น” คือ มีปัญญารู้เข้าใจในคุณค่าแท้ใช้กระบวนการทางวัฒนธรรมแสวงหาปัญญา และมีวัฒนธรรมเมตตาเป็นฐานการดำเนินชีวิต โดยมีผู้บริหาร และคณะครูเป็นกัลยาณมิตร ช่วยกันพัฒนาดำเนินการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีวิถีการทำงาน วิถีชีวิต วิถีการเรียนรู้  วิถีวัฒนธรรมต่าง ๆ ตามหลัก “ไตรสิกขา” ที่นำไปสู่ “ปัญญา” วิถีชีวิตที่ดีงามตามหลักไตรสิกขาทั้ง ๓ ด้าน

  1. ศีล (พฤติกรรม)
  • มีกิริยามารยาท กิน อยู่ ดู ฟัง เป็น
  • รู้จักพิจารณาเลือกเสพสิ่งบริโภค และสื่อต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ด้วยปัญญา
  • รู้จักความพอดี  พอประมาณ ในการแสวงหา บริโภค สะสมสิ่งต่าง ๆ
  • ปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์ภายนอกที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดวินัยในตนเอง
  • ไม่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่นโดยมีศีล ๕ เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต
  • มีชีวิตที่สัมพันธ์ด้วยดีกับบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม
  1. จิตใจ (สมาธิ)
  • มีสมรรถภาวะที่ดี คือ มีสมาธิ มีความตั้งมั่น เข้มแข็ง มุ่งมั่นทำดี ด้วยจิตใจกล้าหาญ อดทน สู้สิ่งยาก ขยันหมั่นเพียร ไม่ย่อท้อสามารถฟันฝ่าอุปสรรคผ่านความยากลำบากไปได้ พึ่งตนเองได้
  • มีคุณภาวะ คือ มีความกตัญญูรู้คุณ มีจิตใจเมตตา กรุณาโอบอ้อมอารีมีน้ำใจ ละอายชั่วกลัวบาป  ซื่อสัตย์  รับผิดชอบ กล้ารับผิด  เกิดจิตที่เป็นบุญกุศลอย่างสม่ำเสมอ
  • มีสุขภาวะที่ดี  คือ มีความสุข ความร่าเริง เบิกบาน มองโลกในแง่ดี มีกำลังใจ เกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ ในการร่วมกิจกรรมงานต่าง ๆ
  1. ปัญญา
  • มีศรัทธาเลื่อมใสและมีความเข้าใจในพระรัตนตรัย ในกฎแห่งกรรม และในหลักบาปบุญคุณโทษ
  • มีทักษะและอุปนิสัยในการเรียนรู้ทีดี จูงใจ ใฝ่รู้  รู้จักการค้นคว้า การจดบันทึกให้เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง การคิดวิเคราะห์ประมวลผล สามารถนำเสนอถ่ายทอดได้ทั้งแบบกลุ่มและรายบุคคล
  • มีทักษะชีวิตเท่าทันต่อสิ่งเร้าภายนอก และกิเลสภายในตนสามารถแก้ปัญหาชีวิตได้ สามารถนำหลักธรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตได้มีฐานชีวิตที่ดีมีทัศนคติที่ดีต่อการปฏิบัติธรรม เกิดปัญญาเข้าใจในสัจธรรมในชีวิต
  • ได้ตามวุฒิภาวะของตน สามารถต่อยอดพัฒนาไปสู่ปการปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญงอกงามในธรรมที่สูงยิ่งขึ้นไป
ลักษณะโรงเรียนวิถีพุทธ 

              เน้นการจัดสภาพทุก ๆ ด้าน เพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนพัฒนาตามหลักพุทธธรรมอย่าง บูรณาการ โดยส่งเสริมให้เกิดความเจริญงอกงามตามลักษณะแห่งปัญญาวุฒิธรรม  ๔ ประการ คือ

 

๑) สัปปุริสสังเสวะ หมายถึงการอยู่ใกล้คนดี ใกล้ผู้รู้ มีครู อาจารย์ดี มีข้อมูล มีสื่อที่ดี
๒) สัทธัมมัสสวนะ หมายถึง เอาใจใส่ศึกษาโดยมีหลักสูตร การเรียนการสอนที่ดี

๓) โยนิโสมนสิการ หมายถึง มีกระบวนการคิดวิเคราะห์พิจารณาหาเหตุผลที่ดีและถูกวิธี
๔) ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ หมายถึง ความสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตได้ถูกต้องเหมาะสม

 
 
 
เว็บไซต์และข้อมูลของโรงเรียนทุกโรงเรียนในเว็บไซต์นี้ สงวนลิขสิทธิ์ การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์อื่นใด
ต้องได้รับการอนุญาต จากเจ้าของเว็บไซต์ก่อนเสมอ
 
สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา(สนก.)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ 02-288-5889-90 โทรสาร 02-288-5879
Powered by ThaiAppCenter.com ศูนย์รวมแอปมือถือไทย
โครงการสถานศึกษาวิถีพุทธ สำนักงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
79 หมู่ที่ 1 ถนนพหลโยธิน หลักกิโลเมตรที่ 55 ตำบลลำไทร
อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13170
โทรศัพท์: 083 305 2392 |
เจ้าหน้าที่เว็บไซต์เข้าสู่ระบบ
พัฒนาเว็บไซต์โดย: สคูลจ๊อบ สมัครครู ประกาศรับสมัครครู สมัครงานโรงเรียน www.schooljob.in.th